ข้ามไปที่เนื้อหา
เทคนิคจูงใจให้ลูก กินยา

เทคนิคจูงใจให้ลูก กินยา

คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ต่างเคยประสบปัญหาในการป้อนยาลูกกันทั้งนั้น วันนี้เรามาร่วมแบ่งปันเทคนิคการป้อนยาลูกกินกัน

ช่วงนี้หน้าฝน ฝนตกเกือบทุกวัน ต้องระวังสุขภาพกันให้ดีๆ นะคะ ไม่ใช่ระวังสุขภาพเฉพาะตัวเองนะคะ ยิ่งเด็กๆ ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ

วิธีแก้หวัดสำหรับเด็กและให้ลูกกินยา

ช่วงนี้หน้าฝน ฝนตกเกือบทุกวัน ต้องระวังสุขภาพกันให้ดีๆ นะคะ ไม่ใช่ระวังสุขภาพเฉพาะตัวเองนะคะ ยิ่งเด็กๆ ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะเด็กๆ ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกันเลย กว่าจะรู้ตัวก็โดนหวัดทำร้ายซะขี้มูกเขียวเชียว ก็ต้องคอยดูแลกันดีๆ

อย่างเด็กที่บ้าน มามิ โมโม่ ถ้าเป็นกันคนนึงก็จะติดอีกคนนึงเป็นประจำ เพราะเล่นด้วยกัน บางครั้งกินน้ำแก้วเดียวกัน กินขนมด้วยกัน ก็ติดกันไปมา เป็นอย่างนี้ประจำ ถึงจะพยายามแยกเครื่องใช้ของสองคนก็แล้ว แต่บางทีก็มีมาแอบใช้ด้วยกันก็ต้องทำใจกัน

โรคประจำตัวก็คงไม่พ้นโรคหวัดล่ะมั้ง ที่เป็นง่าย ติดง่าย บางครั้งอากาศเปลี่ยนเร็วๆ ก็เริ่มมีน้ำมูกซะแล้ว ที่บ้านนี้เวลาเด็กๆ มีน้ำมูกก็มักจะจับมาล้างจมูกค่ะ วิธีก็คือใช้น้ำเกลือที่ขายในร้านขายยาเป็นขวดๆ ใส่สลิ้งแล้วฉีดเข้าจมูก เวลาฉีดก็เอียงคอก้มหน้า กลั้นหายใจ ให้น้ำเกลือไหลออกมาทางรูจมูกอีกข้าง ทำวันละสองถึงสามครั้ง ก็จะช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกตัน ได้อย่างดี ส่วนโมโม่ยังไม่ค่อยได้ผลเพราะยังเล็กเกินไป กลั้นหายใจไม่เป็นก็เลยใช้ปริมาณน้อยๆ แล้วให้เขากลืนลงคอไปแทน ก็พอช่วยได้ แต่ทำเฉพาะตอนก่อนนอน จะได้หลับสบาย

แต่ถ้าเป็นกันมากๆ น้ำเกลือก็เอาไม่อยู่ ก็ต้องพึ่งพาบริการจากคุณหมอ ที่จะจ่ายยาหลักๆ ก็ประเภท ยาละลายเสมหะ ยาลดน้ำมูก และยาลดอาการคัดจมูก ยาพวกนี้บรรดาแม่ๆ น่าจะคุ้นเคยกันดี เพราะแทบจะมีติดประจำบ้าน พอๆ กับยาพารา ยาลดไข้ต่างๆ พวกเด็กๆ ต่างก็คงเคยสัมผัสรสชาดกันจนเป็นที่คุ้นเคย บางคนก็ชอบในความหวานของยาละลายเสมหะ บางคนก็ส่ายหัวให้กับความขมนิดๆ ของยาลดน้ำมูก แต่ยังไงทุกคนก็ต้องพยายามกิน ยิ่งบางทีเจอยาฆ่าเชื้อละก็ แทบจะจับกรอกกันเลยทีเดียว

บ้านนี้เองก็ประสบปัญหาเดียวกัน ทั้งมามิและโมโม่ ไม่ค่อยยอมให้ความร่วมมือในการกินยาสักเท่าไหร่ หลอกล่อกันจนเบื่อ จนเสียน้ำตากัน ก็เลยมานั่งคิดว่าเป็นเพราะอะไร พอคิดๆ ไปก็พอจะเข้าใจอะไรได้บางอย่าง

ทั้งหมดคงขึ้นอยู่กับคำว่า “ทัศนคติ” คือมันเป็นส่ิงที่ถูกปลูกฝังโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว ทั้งที่ทำด้วยความเคยชิน และทำด้วยความผลั้งเผลอ ยกตัวอย่างเช่น

การป้อนยาในขณะที่สภาพร่างกายเจ็บไข้ ลิ้นที่เคยทานอะไรก็อร่อย ก็อาจจะกลายเป็นจืดชืด หรือรับรู้รสชาดผิดเพี้ยนไป ในเด็กก็เช่นกันสภาพร่างกายที่อ่อนแอ ทำให้ร่างกายปฏิเสธการกินยา ทั้งที่ยาของเด็กในสมัยนี้มีรสชาดที่แทบจะเรียกได้ว่าคล้ายขนมด้วยซ้ำไป แต่เด็กเองก็ยังไม่ยอมรับอยู่ดี ทำให้ต้องมีการบังคับจับกรอกกันทีเดียว

เมื่อร่างกายอ่อนแอ จิตใจก็อ่อนไหว มีความรู้สึกต่อการถูกบังคับ แค่รู้ว่าต้องกินยาก็พาลจะร้องไห้ ไม่อยากกิน ไม่อยากกิน ไม่อยากกิน จนกลายเป็นความรู้สึกฝังลึกลงไป ทำให้การกินยายิ่งลำบากมากขึ้น

พ่อแม่บางคนก็เลยใช้วิธีล่อหลอก บางครั้งก็สัญญาว่าจะให้อะไรต่างๆ คราวนี้ก็เป็นเรื่องของการไล่ทวงสัญญาจากเด็ก บางครั้งก็ได้ แต่บางครั้งก็ไม่ได้ ก็ยิ่งผิดหวัง ทำให้การป้อนยาครั้งต่อไปก็ยิ่งลำบากมากขึ้น

จะเห็นได้ว่า มันมีขบวนการซึมซับทัศนคติที่ไม่ดีของการกินยาให้กับเด็กอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นความรู่สึกต่อต้านในที่สุด ที่สุดแล้วก็ต้องมาแก้ไขที่คนป้อนยาเองนั่นแหละ ไม่ใช่ที่ตัวเด็ก

อย่างแรกเลยก็คือ เลิกขู่ว่าถ้าดื้อจะให้กินยา หรือพาไปหาหมอจับฉีดยา สมัยเด็กๆ คงมีหลายคนเจอกับคำขู่ทำนองนี้ คือต้องเลิกพูดไปเลย แต่ต้องบอกว่ากินยาแล้วดีทำให้ร่างกายแข็งแรง ทำให้หนูได้ออกไปเล่นข้างนอก ไม่ต้องอยู่แต่ในห้อง เพราะฉะนั้นรีบกินยาซะนะ

ต่อมาคือการเลือกวิธีป้อนยาให้ถูกต้อง ถ้าเด็กสามารถกินจากช้อนได้ ก็ใช้ช้อนเลยจะสะดวกกว่า และสามารถกลืนลงคอได้รวดเดียวเลย ทำให้ไม่ต้องผอืดผะอม กับการค่อยๆ ฉีดจากหลอดฉีดยาเข้ากระพุ้งแก้ม แม่แหม่มเคยลองกับตัวเองแล้วรู้สึกว่ามันกลืนไม่ถนัด ก็เลยคิดว่ามันเหมาะสำหรับเด็กเล็กที่ยังไม่คุ้นกับการกลืนมากกว่า

เลือกช่วงเวลาป้อนยาก็สำคัญ การป้อนยาหลังอาหาร ถ้ายามีรสชาตขมก็ควรทิ้งช่วงเวลาให้เกิน 15 นาทีเพื่อป้องกันอาหารไหลย้อนออกมาหรือว่าอาเจียรนั่นเอง คือถ้าพอเด็กอาเจียรเพราะยาครั้งหนึ่งแล้วคราวนี้จะเข็ดขยาดกับยาตัวนี้จนฝังใจทีเดียว ถ้าเว้นช่วงเวลาให้อาหารลงกระเพาะแล้วค่อยป้อนยาก็จะพอช่วยได้บ้างค่ะ

อย่าลืมเตรียมน้ำไว้เยอะๆ สำหรับเด็กที่กลัวมากๆ อย่างน้อยน้ำเปล่าก็จะช่วยเจือจางรสชาดของยาได้อย่างดี หรือถ้าจะมีรางวัลตบท้ายเป็นขนม ก็พอจะอนุโลมให้ได้บ้าง ช่วยทำให้ไม่ขมปากจะได้ไม่รู้สึกกลัวยานั่นเอง

เคล็ดลับป้อนยาเด็ก

สุดท้าย ก็คือการสาธิตให้ดูเลยว่ายาของหนูนะกินอร่อย ไม่ขมเลย หรือถ้าขมก็นิดหน่อย กินน้ำตามก็ไม่ขมปากแล้ว เสร็จแล้วก็กินให้เด็กดูซะเลย แต่เลือกยาที่กินได้ไม่เป็นอันตรายต่อตัวเองอย่างยาละลายเสมหะ ยาลดไข้ พวกนี้ กินเข้าไปนิดหน่อยร่างกายขับออกได้ค่ะ แค่แสดงให้เด็กดูว่ามันอร่อย และทำให้ร่างกายเราแข็งแรง ขนาดพ่อแม่ยังกินได้เลยไม่เป็นไรหรอก

แม่แหม่มคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกไม่ยอมทานยา หรือทานยายาก เพราะนำมาจากประสบการณ์จริงมาบอกกล่าวเล่าให้ฟังกันค่ะ เพราะเมื่อก่อนมามิกับโมโม่ก็เป็นเหมือนกัน กินยาแต่ละครั้งแทบจะเสียจริต สุดท้ายก็ต้องมานั่งคุยกันดีๆ กินให้ดูกัน ทั้งยาละลายเสมหะ ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้ ให้ค่อยๆ จิบ ค่อยๆ กิน จนสุดท้ายก็ไม่ต้องบังคับกันอีกแล้ว ยิ่งโมโม่ยิ่งสบายเลย พอเรียกกินยาปุ๊บ วิ่งมารอคนแรกเลย คนเป็นพ่อแม่ก็โล่งอก สบายใจ

อย่าลืมนะคะ ทัศนคติ เป็นเรื่องที่ต้องปรับจูนกันให้สมดุลย์ ทำให้ความรู้สึกของพ่อแม่กับลูกอยู่ในจุดที่เข้าใจกันได้ อย่าเผลอไปฝังความรู้สึกกลัวสิ่งต่างๆ ที่เราเองอาจจะไม่คาดคิดเหมือนกัน แต่เมื่อเรารู้ตัวแล้วก็รีบปรับจูนกันนะคะ ไม่มีคำว่าสายสำหรับลูกค่ะ