“หนูอยากเป็นหมอ!” “ผมอยากเป็นสถาปนิก!” “อยากเป็นทนายความครับ/ค่ะ!” ถ้าเราถามลูกหลานในวัยเด็กว่าโตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร รับรองได้เลยว่าคำตอบที่ได้คงจะไม่เหมือนกับคำตอบด้านบน ความคิดของเด็กๆ นั้นไร้ขอบเขตและกฎเกณฑ์ เขาอยากจะเป็นนักบินอวกาศ นักกีฬาฟุตบอลระดับโลก นักเต้นบัลเลต์ หรือ ซุปเปอร์โมเดล สำหรับเด็กๆ แล้ว ไม่ว่าอะไรที่เขาวาดฝันว่าจะเป็น ก็มีความเป็นไปได้ทั้งนั้น แต่สำหรับผู้ใหญ่อย่างเรา เรารู้ว่าการเป็นนักบินอวกาศนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ และเมื่อเด็กๆ ค่อยๆ เติบโตขึ้น เราก็คาดหวังว่าคำตอบของ ‘โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร’ ก็จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามการเจริญเติบโตของเขา แน่นอนว่าผู้ปกครองทุกคนอยากให้ลูกมีหน้าที่การงานที่ดี อย่างอาชีพที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นบทความนี้ เช่น หมอ หรือ สถาปนิก แต่อาชีพที่เด็กๆ คิดฝันอยากจะเป็นนั้น เป็นแค่สิ่งที่เขา ‘ชอบ’ และได้เรียนรู้ ซึมซับ จากสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มีขีดข้อจำกัดให้ตัวเอง หรือ มีความเข้าใจต่ออาชีพนั้นๆ อย่างแท้จริง เช่น ตอนนี้เด็กที่บ้านอาจจะอยากเป็นยาม หรือ ใฝ่ฝันเป็นคนขายโรตี แต่เมื่อเขาโตขึ้น คำตอบแนวนี้ก็คงเป็นแค่เรื่องเล่าขำขันในวัยเด็ก (อย่างไรก็ดี คนในครอบครัวควรสอนให้เด็กๆรู้ว่างานสุจริตทุกงานเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และงานทุกอย่างมีบทบาทและความสำคัญที่แตกต่างกันต่อสังคม) เราทุกคนมีความวิตกกังวลว่าลูกจะทำมาหากินอะไรเมื่อเขาโตขึ้น และในขณะเดียวกันก็อยากให้เขามีความสุข มีพัฒนาการที่สมวัย และมีสุขภาพที่แข็งแรง มาดูกันว่าเราจะทำอย่างไรในการช่วยให้เขาเติบโตขึ้น ด้วยความพร้อมและความสามารถที่จะเป็นอะไรก็ได้ที่เขาอยากเป็น
การเรียนรู้เรื่องอาชีพในวัยเด็ก
คำถามที่หลายคนอาจสงสัยคือแล้วเราจะเป็นแรงกระตุ้นที่ดีได้อย่างไรในการสร้างเสริมพัฒนาการและศักยภาพของเด็กๆ ตั้งแต่เขายังเล็ก ส่วนใหญ่เราก็บอกให้ลูกขยันหมั่นเพียร ตั้งใจเรียน และส่งเสริมในสิ่งที่เขาชอบและถนัด แต่แม้แต่ตัวของเราเอง เรารู้จักอาชีพที่หลากหลายพอที่จะให้ความรู้แก่ลูกน้อยแล้วหรือยัง? อาชีพที่มั่นคงใช้ตรรกะอย่างหมอหรือวิศวกรนั้นก็ดี แต่อาชีพที่ใช้ความสามารถทางศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ หรือความรู้เฉพาะทางนั้นก็มีอยู่มาก เราเองควรจะเรียนรู้ถึงอาชีพต่างๆ ให้มากพอ เพื่อที่จะมอบประสบการณ์ที่หลากหลาย และค่อยๆ เสริมความรู้ และแนะแนวอาชีพให้ลูกได้ในที่สุด นอกจากการอ่านหนังสือเกี่ยวกับอาชีพต่างๆ ให้เด็กๆ ฟังแล้ว ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการเรียนรู้ในสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย เป็นสิ่งสำคัญในการช่วยหล่อหลอมความคิดของเด็กๆ ให้มีข้อมูลมากพอที่จะทำให้เขานึกถึง หรือพูดคุยเกี่ยวกับอาชีพที่เขาอยากจะเป็นเมื่อเติบโตขึ้น การได้รับรู้และเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับผู้คนและอาชีพต่างๆ จากประสบการณ์จริง จะทำให้เด็กๆ เก็บสะสมความรู้และค่อยๆ พัฒนาความคิด อย่างการไปเที่ยวพักผ่อนชายทะเลที่ทั้งครอบครัวตั้งตารอ นอกจากจะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับทะเลและสิ่งมีชีวิตต่างๆ บนชายหาด เด็กๆ ก็จะได้เห็นการทำงานของพนักงานโรงแรมที่พูดจาไพเราะและคอยเอาใจใส่ในการบริการ หรือ ชาวประมงที่ต้องออกเรือตอนกลางคืน เห็นไฟลับๆ จับกุ้ง หอย ปู ปลา ในทะเลลึก
เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็นและประพฤติตาม
คำตอบที่เราปลาบปลื้มที่สุดเมื่อเราถามเขาว่า ‘โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร?’ ก็คงไม่พ้นคำตอบที่ว่า ‘หนูอยากเป็นเหมือนคุณพ่อ/คุณแม่’ แต่คำตอบนั้นจะดีไม่ได้เลย หากเราไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีให้เขาเดินตาม เราสามารถทำได้ โดยพาลูกไปที่ทำงานให้เขาเห็นคร่าวๆ ในสิ่งที่เราทำ และอธิบายเนื้องานคร่าวๆ ตามวัยและความเข้าใจ หรือหากสิ่งที่ลูกน้อยสนใจเป็นอาชีพอื่นๆ เราก็สามารถพาเขาไปศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม หรือซื้อของเล่นมอบให้ในโอกาศพิเศษเพื่อให้เขาได้เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ในการสมมุติเล่นเป็นอาชีพนั้นๆ นอกจากการเรียนรู้ในสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมหลากหลาย สิ่งที่สำคัญมากต่อการที่จะให้เด็กๆ ประสบความสำเร็จในอนาคตก็คือพื้นฐานการศึกษา เลือกโรงเรียนที่มีมุมมองทางการศึกษาและการพัฒนาการของเด็กที่ตรงกับการสอนของครอบครัว แต่ที่สำคัญที่สุดคือดูว่าลูกมีความสุขที่จะไปโรงเรียนไหม และได้เรียนในวิชา หรือ ทักษะ ที่เขาสนใจหรือเปล่า เพราะการศึกษาและการเรียนในโรงเรียนไม่ได้เป็นสูตรลับทางสำเร็จในชีวิต หากลูกเราชอบศิลปะ วาดเขียน จะให้ไปเรียนกวด คณิต วิทยาศาสตร์ ก็อาจกลายเป็นเสียเวลาและเสียเงินโดยใช่เหตุ สิ่งสำคัญในพื้นฐานการศึกษาคือให้เขาเรียนรู้ให้คลอบคลุมทุกวิชา และลองผิดลองถูกตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อให้เขาได้ตระหนักถึงสิ่งที่ชอบและถนัด โดยปราศจากการผลักดันและความต้องการของครอบครัวเอง และเราจะได้ช่วยส่งเสริมพัฒนาการลูกอย่างถูกทาง ในทักษะและสาขาวิชาที่เขาชื่นชอบและทำได้ดีอย่างแท้จริง ยังไงลองถามเด็กๆ ที่บ้านกันว่า ‘โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร?’